เคมี เรื่อง ของแข็ง

Homepage


ลักษณะของของแข็ง
ของแข็ง (solid) เป็นสถานะของสสารที่มีลักษณะแตกต่างจากแก๊สหรือของเหลว คือ มีรูปร่างที่แน่นอน ไม่ขึ้นอยู่กับภาชนะที่บรรจุ เนื่องจากอนุภาคของของแข็งมีพลังงานจลน์น้อยมาก ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ เพียงแค่สั่นสะเทือนอยู่กับที่ การแพร่ของของแข็งเกิดขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับแก๊สหรือของเหลว นอกจากนี้อนุภาคในของแข็งจะมีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลหรือไอออนที่สูงกว่าในของเหลวหรือแก๊ส ทําให้อนุภาคเหล่านี้อยู่ชิดกัน ทําให้มีความหนาแน่นสูงและแข็งมากกว่าของเหลวและแก๊ส เมื่อถูกบีบอัดจะไม่ทําให้ปริมาตรเปลี่ยนแปลงหรือถ้าเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ประเภทของของแข็ง 
โดยทั่วไปของแข็งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ของแข็งที่มีลักษณะเป็นผลึก (crystalline solid) เป็นของแข็งที่มีพื้นผิวที่ทํามุมกันด้วยค่าที่แน่นอน ซึ่งแสดงถึงการจัดเรียงเป็นระเบียบของอนุภาคของของแข็ง ผลึกที่มีขนาดใหญ่เมื่อทําให้เล็กลงก็ยังคงรักษาลักษณะรูปผลึกเดิมอยู่ สารบางอย่างอาจมีรูปผลึกได้หลายแบบซึ่งเราจะเรียกว่าปรากฏการณ์อัญรูป (polymorphism) เช่น เพชร แกรไฟต์ สารบางชนิดอาจจะมีรูปร่างผลึกที่เหมือนกันได้ ซึ่งจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาวะรูปร่างเหมือน (isomorphism) เช่น NaCl, KCl, RbBr และ CaS นอกจากนี้ ผลึกยังมีสมบัติที่เรียกว่าanisotropy อันได้แก่ความแข็งแรงทนทานทางกล ดรรชนีหักเห และการนําไฟฟ้า ถ้าวัดในทิศทางที่ต่างกันค่าที่ได้จะไม่เท่ากัน
2. ของแข็งอสัณฐาน (amorphous solid) หรือของแข็งที่ไม่มีรูปผลึก อนุภาคเรียงตัวไม่เป็นระเบียบเช่น แก้ว โพลิเมอร์ ยางธรรมชาติ ฯลฯ มีสมบัติทั่วๆ ไปคล้ายผลึก แตกต่างกันที่ไม่มีรูปทรงเรขาคณิตที่แน่นอน ดังนั้นจึงมีสมบัติที่เรียกว่าisotropy คือ ค่าดรรชนีหักเห การนําไฟฟ่า และคุณสมบัติอื่นๆ จะเหมือนกันหมดทุกทิศทาง นอกจากนี้ของแข็งอสัณฐานจะมีจุดหลอมเหลวไม่เด่นชัด เมื่อได้รับความร้อนจะค่อยๆ อ่อนตัวจนกระทั่งไหลได้ อุณหภูมิที่ของแข็งชนิดนี้หลอมตัวจึงอยู่ในช่วงที่ยาว ต่างจากผลึกซึ่งจะมีจุดหลอมเหลวที่เด่นชัดและอุณหภูมิที่ของแข็งชนิดนี้หลอมตัวอยู่ในช่วงที่แคบ

อ้างอิง
https://www.scimath.org/lesson-chemistry/item/7086-solid